พ.ร.บ. มอเตอร์ไซต์คุ้มครองอะไรบ้าง
สรุปเรื่องที่เราอยากเล่าให้คุณฟัง…
* พ.ร.บ. และประกันภัย มีความสำคัญต่อผู้ขับขี่ให้ความคุ้มครองต่างกัน
* พ.ร.บ. คือประกันภาคบังคับที่ผู้ขับขี่รถทุกคนต้องมี ใช้คุ้มครองตัวผู้ขับขี่และผู้โดยสารทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก และรวมถึงบุคคลที่สามด้วย
เมื่อคุณออกรถมอเตอร์ไซค์จากศูนย์จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ สิ่งหนึ่งที่คุณต้องทำควบคู่กันไปด้วยนั่นก็คือ การทำพ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ สำหรับพรบ. นั้นเป็น “ประกันภัยภาคบังคับ” ที่เจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์ทุกคนต้องมี ขณะที่ประกันภัยนั้นเป็น “ประกันภัยภาคสมัครใจ” ที่เจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์จะทำหรือไม่ทำก็ได้
เมื่อถามว่าประกันภัยจำเป็นหรือไม่ต่อผู้ใช้รถยนต์และจักรยานยนต์หรือไม่ สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คืออุบัติเหตุที่คร่าชีวิตคนไทยไปมากที่สุดในแต่ละปีนั้นก็หนีไม่พ้นอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์นั่นเอง ดังนั้นการทำประกันภัยก็เป็นทางเลือกที่ดีเพื่อให้คุณหรือญาติพี่น้องไม่ต้องมาแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในกรณีเกิดอุบัติเหตุ
ทั้งนี้พ.ร.บ.และประกันภัยมีความแตกต่างกันในเรื่องของขอบเขตการคุ้มครอง และตัวประกันภัยเองก็ยังแบ่งย่อยเป็นประกันชั้น1,ชั้น2, ชั้น2+ และชั้น3+ ซึ่งให้ความคุ้มครองแตกต่างกันไปเช่นกัน
พ.ร.บ. มอเตอร์ไซต์คืออะไร คุ้มครองอะไรบ้าง?
พ.ร.บ. คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกฎหมายที่บังคับให้รถทุกคันที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกจะต้องทำและมีไว้เป็นหลักประกันให้กับผู้ขับขี่, ผู้โดยสาร รวมถึงผู้ที่ใช้รถใช้ถนนว่าจะได้รับสิทธิความคุ้มครองและรับค่ารักษาพยาบาลจากการเกิดอุบัติเหตุจากเงินกองกลางที่รถทุกคันได้ทำ พ.ร.บ. ไว้ โดยพ.ร.บ. ให้ความคุ้มครอง ดังต่อไปนี้
ค่าเสียหายเบื้องต้น
พ.ร.บ. จะให้การคุ้มครองทันทีทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารหลังจากเกิดอุบัติเหตุโดยไม่จำเป็นต้องรอพิสูจน์ว่าใครถูกหรือผิด ผู้มีพ.ร.บ.จะได้รับเงินชดเชยภายใน 7 วัน ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- กรณีบาดเจ็บ จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดคนละไม่เกิน 30,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหรือสูญเสียอวัยวะ จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดคนละไม่เกิน 35,000 บาท
- กรณีที่ได้รับบาดเจ็บแล้วสูญเสียอวัยวะตามมา จะได้รับเงินชดเชยคนละไม่เกิน 65,000 บาท
- กรณีรักษาพยาบาลแล้วเสียชีวิตก็จะได้รับค่าชดเชยคนละไม่เกิน 65,000 บาท
ค่าสินไหมทดแทน
คือ เงินชดเชยที่ผู้ที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายถูกจะได้รับค่าสินไหมทดแทนทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ดังนี้
- กรณีได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 80,000 บาท
- กรณีสูญเสียอวัยวะ มีหลักเกณฑ์การรับเงินชดเชย ดังนี้
- สูญเสียอวัยวะ 2 ส่วนขึ้นไป – 300,000 บาท
- สูญเสียอวัยวะ 1 ส่วน – 250,000 บาท
- สูญเสียนิ้ว ตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป – 200,000 บาท
- กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามจริงคนละไม่เกิน 300,000 บาท
- ได้รับค่าชดเชยการรักษาตัว กรณีผู้ป่วยในได้รับค่าชดเชยวันละ 200 บาท ในระยะเวลาไม่เกิน 20 วัน
*รวมค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดคนละไม่เกิน 304,000 บาท
พ.ร.บ. เคลมประกันอย่างไร?
การเคลมประกัน คือ การเรียกร้องสิทธิประโยชน์ของผู้มีพ.ร.บ. หรือประกันภัยใดๆ ก็ตาม ซึ่งการขอใช้สิทธิ์ พ.ร.บ.จะต้องดำเนินการภายใน 180 วันหลังจากวันที่เกิดเหตุ
ขั้นตอนการเคลมพ.ร.บ. นั้นต้องยื่นเอกสารต่างๆ ต่อไปนี้
- ใบบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจเก็บไว้เป็นหลักฐาน
- ใบรับรองแพทย์พร้อมใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้ที่ประสบเหตุหรือใบมรณะบัตร
- สำเนาบัตรประชนชนของทายาท
หากค่ารักษาพยาบาลเกินวงเงิน สามารถหักค่าใช้จ่ายจากสิทธิอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันสังคม, 30 บาทรักษาทุกโรค, บัตรทอง หรือแม้แต่ประกันสุขภาพและประกันชีวิตตามลำดับ หลังจากนั้นจะได้รับค่าชดเชยตามสิทธิ์ภายใน 7 วันหลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน
ที่มา : www.grandprix.co.th